รู้จัก 5-ALA สารอาหารที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าป้องกัน โควิด-19 ได้

1 Views

  พุธที่ 30 มิถุนายน 2564

แม้ว่าจะมีวัคซีนแต่หลายฝ่ายก็ให้ความสนใจในการคิดค้นทำวิจัย เพื่อหาทางเลือกในการป้องกันและยับยั้งการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สาร 5-ALA เป็นอีกหนึ่งสารที่มีแนวโน้มว่าจะช่วยการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 ได้ มารู้จัก 5-ALA และประโยชน์ของมันกัน
 
รู้จัก 5-ALA
5-อะมิโนลีวูลินิก แอซิด (5-Aminolevulinic acid) หรือ 5-ALA เป็นกรดอะมิโนธรรมชาติที่ร่างกายคนและสัตว์รวมถึงพืชสร้างขึ้นมาเองได้ ในคนกรดอะมิโนชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นฮีม (Heme) ในร่างกายโดยจับกับธาตุเหล็ก และจับกับโปรตีนโกลบิน จนเกิดเป็นฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญในเซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบินทำหน้าที่ช่วยขนส่งออกซิเจนไปเพื่อสร้างพลังงานในทุกส่วนของร่างกาย ดังนั้นกรดอะมิโนชนิดนั้นจึงถูกเรียกว่าแหล่งของพลังงาน
 
ประโยชน์ของ 5-ALA
ปัจจุบันนี้มีการนำ 5-ALA ไปเป็นส่วนประกอบของยาสำหรับรักษาโรคหลายชนิด ได้แก่ มาลาเรีย เบาหวาน และโรคซึมเศร้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำสารชนิดมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพดังนี้
 
ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
จากงานวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยนางาซากิและบริษัทยา Neopharma Japan ที่ทำกันภายในหลอดทดลอง โดยการใส่ 5-ALA ความเข้มข้นต่างๆ ลงไปในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าที่ความเข้มข้นหนึ่งของ 5-ALA มีผลยับยั้งการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (ไวรัสโควิด-19) ในเซลล์เพาะเลี้ยงทั้งจากมนุษย์และจากสัตว์ได้ดี อีกทั้งสารชนิดนี้ไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์แต่อย่างใด ในปัจจุบันมีอาหารเสริม 5- ALA วางขายอยู่ตามร้านขายยาทั่วไปในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำ 5-ALA มาใช้ในการป้องกันและรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
 
การยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงโดย 5-ALA (กราฟสีฟ้า แสดงชุดควบคุม กราฟสีแดง แสดงผลของ 5-ALA ในการยังยั้งการติดเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง )
การยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงโดย 5-ALA (กราฟสีฟ้า แสดงชุดควบคุม กราฟสีแดง แสดงผลของ 5-ALA ในการยังยั้งการติดเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง )
 
ผลของ 5-ALA ในการยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสโควิด-19 ในเซลล์เพาะเลี้ยง (รูปขวามือ)
ผลของ 5-ALA ในการยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสโควิด-19 ในเซลล์เพาะเลี้ยง (รูปขวามือ)
 
การยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงโดย 5-ALA (กราฟสีฟ้า แสดงชุดควบคุม กราฟสีแดง แสดงผลของ 5-ALA ในการยับยั้งการติดเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง) ผลของ 5-ALA ในการยับยั้งการติดเชื้อของไวรัสโควิด-19 ในเซลล์เพาะเลี้ยง ช่วยเสริมให้การเผาผลาญพลังงานในร่างกายดีขึ้น
 
โดยทั่วไปมากกว่าร้อยละ 90 ของ ATP ซึ่งเป็นพลังงานที่ร่างกายคนเราต้องการเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ สร้างมาจากอวัยวะขนาดเล็กและมีความสำคัญมาก ชื่อ ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) แต่เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นไมโตคอนเดรียจะทำหน้าที่ได้ลดลง ทำให้ระบบการเผาผลาญพลังงานทำงานได้แย่ลง ส่งผลให้แก่เร็วและป่วยได้ง่าย จากการศึกษาพบว่าการรับประทานสาร 5-ALA จะทำให้การทำงานของไมโตคอนเดียดีขึ้น ส่งผลให้แก่ช้าและไม่ป่วยง่าย
 
อาหารที่อุดมไปด้วย 5-ALA
แม้ว่าจะมีอาหารเสริม 5-ALA วางจำหน่ายตามร้านยาในญี่ปุ่น แต่อาหารเสริมเหล่านี้มีราคาที่ค่อนข้างแพง และการรับประทานอาหารเสริมในระยะยาวอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ การรับประทานอาหารตามธรรมชาติที่มี 5-ALA จึงเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัย โดยอาหารที่มีกรดอะมิโนชนิดนี้ในปริมาณสูง ได้แก่
 
นัตโตะ
นัตโตะ 100 กรัมมีสาร 5-ALA ประมาณ 25 ไมโครกรัม นอกจาก 5-ALA แล้วนัตโตะยังประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงได้แก่ วิตามินเค ซึ่งเป็นวิตามินที่อาจจะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ แบคทีเรียบาซิลลัส สายพันธุ์นัตโตะ ซึ่งช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในลำไส้ ส่งผลในการเสริมให้ระบบเซลล์ภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี และสารเมือกมิวซิน (Mucin)  ซึ่งช่วยเสริมการทำหน้าที่ของเยื่อบุผิวเซลล์และช่วยป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส
 
ผักปวยเล้ง
ผักปวยเล้ง 100 กรัมมีสาร 5-ALA ประมาณ 13.8 ไมโครกรัม ด้วยว่าผักปวยเล้งเป็นผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก จึงช่วยเสริมให้ 5-ALA เปลี่ยนเป็นฮีมได้ดี จึงมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในการช่วยยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย
 
ไวน์แดง
ไวน์แดง 100 กรัม มีสาร 5-ALA ประมาณ 110 ไมโครกรัม อย่างไรก็ดี ไวน์แดงเป็นแอลกอฮอล์จึงไม่ควรดื่มในปริมาณที่มากเกินไป
 
น้ำส้มสายชูดำ
น้ำส้มสายชูดำได้จากการนำข้าวกล้องมาหมัก น้ำส้มสายชูดำ 100 กรัม มีสาร 5-ALA ประมาณ 150 ไมโครกรัม นอกจากคุณค่าของสาร 5-ALA แล้ว น้ำส้มสายชูดำยังอุดมไปด้วยกรดซิตริก ซึ่งช่วยเสริมให้ระบบการเผาผลาญพลังงานทำงานได้ดี ทำให้ไม่เหนื่อยและไม่ป่วยง่าย
 
นอกจากอาหารดังกล่าวแล้ว อาหารดังต่อไปนี้ เช่น ปลาหมึกยักษ์ (78 ไมโครกรัม/100 กรัม) ปลาหมึก (38 ไมโครกรัม/100 กรัม) เหล้าสาเก (70-353 ไมโครกรัม/100 กรัม) และกล้วย (32 ไมโครกรัม/100 กรัม) เป็นต้น ก็มี 5-ALA ในปริมาณที่สูงเช่นกัน
 
แม้ว่าอาหารดังกล่าวจะมีปริมาณ 5-ALA ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ใช้ในการทดลอง แต่ร่างกายคนเราสร้างสารชนิดนี้ได้เองด้วย การรับประทานจากอาหารบ้างก็ยังช่วยให้อุ่นใจว่าจะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงขึ้น
 
การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการดูสุขภาพให้แข็งแรงไปพร้อมกับการ์ดไม่ตกจึงมีความจำเป็นตลอดไป การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และเสริมด้วยอาหารที่มีสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามิน เอ ซี อี เค และดี รวมถึงสาร 5-ALA ด้วย น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีที่ทำให้เราแข็งแรงไปนานๆ
 
อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก
https://www.sanook.com/health/28681/